หน้าหลัก
KOITHAI










                                              
โรค และการรักษา

โรคปลาแฟนซีคาร์พและวิธีรักษา
          
เป็นเรื่องที่เลี่ยงได้ยากสำหรับผู้เลี้ยงปลาทุกคน ที่จะต้องเจอกับปัญหาปลาป่วย และตาย ดังที่ได้กล่าวมาแล้วว่า มีหลายปัจจัยที่เป็นต้นเหตุของการเกิดโรค เช่น น้ำ อาหาร การจัดการ รวมไปถึงความประมาทโดยที่ไม่ได้ตั้งใจ เช่น การเคลื่อนย้ายปลา การเปลี่ยนถ่ายน้ำ บางครั้งเราดูแลปลาเป็นอย่างดี ปลาก็ป่วยและตายโดยที่ไม่รู้สาเหตุก็มี ฉะนั้นเราควรจะหมั่นสังเกต และเอาใจใส่ปลาในบ่อว่า มีสิ่งใดที่ทำให้ปลาเปลี่ยนแปลงไป เช่น ท่าทางในการว่ายที่ผิดปกติ แยกตัว ซึม ไม่กินอาหาร มีแผล หรือใช้วิธีการตักปลาขึ้นมาดู เพื่อวิเคราะห์อาการภายนอกก่อน ถ้าเจอสาเหตุจะได้รักษาได้ทันท่วงที แต่ถ้าเป็นโรคที่เกิดในตัวปลาก็ต้องใช้วิธีรักษาอีกแบบหนึ่ง และจำเป็นที่จะต้องแยกปลา ที่มีอาการออกจากบ่อเลี้ยงมาทำการรักษาเพราะ โรคบางชนิดสามารถติดต่อได้ ส่วนยาที่ใช้กับปลาคาร์พก็มักจะเป็นยาปฏิชีวนะ ที่ใช้รักษากับปลาน้ำจืดทั่วๆไป และควรระมัดระวังในการใช้ยา ไม่ควรใช้ยามากหรือน้อยกว่าที่กำหนดไว้ ควรใส่ยาป้องกันโรคไว้ก่อนเป็นประจำก็ได้ เราจึงควรรู้จักกับโรคที่จะเกิดกับปลา และวิธีป้องกัน ดังที่จะกล่าวต่อไปนี้

 หนอนสมอ (Lerneosis) จะมีลักษณะคล้ายสมอ ยาวเหมือนเส้นด้าย มีความยาว 6-12 มิลลิเมตร กว้าง 0.5-1.2 มิลลิเมตร เมื่อวงจรของหนอนสมอโตเต็มวัยแล้วจะเป็นอันตรายกับปลา โดยที่หนอนสมอ จะเจาะที่ลำตัวของปลาทำให้ปลาติดเชื้อ และจะวางไข่บนผิวหนังของปลาด้วย ปลาจะมีอาการซึม เบื่ออาหาร ผอมแห้ง กระพุ้งแก้มเปิดอ้า มีจุดสีแดงเป็นจ้ำๆ ตามลำตัว ครีบและเหงือก อาจจะมีอาการอักเสบร่วมด้วย
การรักษา : ใช้มาลาไคท์กรีนความเข้มข้น 0.1 ppm. แช่ติดต่อกันประมาณ 5 ครั้ง แต่ละครั้งห่างกันประมาณ 1 สัปดาห์
 เห็บ (Argulus) มีลักษณะกลมคล้ายจานแบน มีขนาดตั้งแต่ 5-10 มิลลิเมตร สีเขียวอ่อนไปจนถึงสีออกน้ำตาล ดูดเลือด ปลาเป็นอาหาร ปลาจะมีอาการระคายเคืองโดยถูตัวกับข้างบ่อหรือสิ่งของในบ่อ ลำตัวจะมีริ้วแดงๆ ปลาจะกินอาหาร น้อย ลง และไม่ค่อยว่าย
การรักษา
: ใช้มาโซเต็นความเข้มข้น 0.5-1 ppm. สัปดาห์ละครั้งติดต่อกัน 3 สัปดาห์
 จุดขาว (Ich) หรือ White Spot จะพบได้บ่อยในระยะที่อากาศเย็น อาการที่ปรากฏก็คือ ปลาจะมีจุดสีขาวหรือเทา ขนาด 0.5-1.0 มิลลิเมตร ตามลำตัว เหงือก ครีบ บางครั้งก็จะพบอยู่ใต้ชั้นผิวหนังด้านนอก
การรักษา
: ใช้ฟูราเนสความเข้มข้น 0.1 แช่ 4-7 วันติดต่อกัน
 เชื้อรา (Fungus) มีผลกระทบต่อปลามากเมื่อปลามีแผลเกิดขึ้น และจะทำให้เชื้อราเกาะบริเวณนั้น แล้วค่อยๆกินลึกลงไปในเนื้อปลา ถ้ามีมากบริเวณเหงือกจะทำให้ปลาตายได้ จะมีลักษณะเหมือนสำลีบางๆติดอยู่ที่บริเวณผิวหนัง หากเป็นมากอาจตายภายใน 7 วัน
การรักษา : ใช้เกลือความเข้มข้น 2% (เกลือ 2 ขีดต่อน้ำ 10 ลิตร) แช่ปลาไว้ และเช็ดสิ่งที่เหมือนสำลีที่ติดอยู่ที่บริเวณผิวหนังออกให้หมด แล้วใช้ฟูราเนสทาบริเวณแผล และนำปลาไปแช่ในฟูราเนสความเข้มข้น 1 ppm เป็นเวลา 10 นาที ติดต่อ 4-7 วัน
 ปลิงใส (Fluke) มีขนาดเล็ก ไม่มีปล้อง มีขอเกี่ยว พบที่บริเวณเหงือกและเมือกของปลา ถ้าพบบริเวณเหงือก จะสังเกตเห็นกระพุ้งแก้มเผยอเล็กน้อย เหงือกซีด ถ้าพบที่ลำตัว ปลาจะขับเมือกออกมามากผิดปกติ จะทำให้การดำรงชีวิตของปลาผิดปกติ
การรักษา
: ใช้น้ำยาดิพเทอร์เร็ก 0.25 ppm. แช่ติดต่อกัน 3 วัน โดยต้องเปลี่ยนน้ำใหม่ทุกครั้งที่แช่ยา หรือใช้ฟอร์มาลิน 50 ppm. โดยแช่ทิ้งไว้
  ผิวขุ่น, เมือก (Sliminess Disease) เกิดจากเชื้อโปรโตซัวทำให้ปลาระคายเคืองและขับเมือกออกมามากผิดปกติ จะดูเหมือนว่าปลานั้นมีสิ่งสกปรกติดตามผิวหนัง และเส้นเลือดจะอักเสบ โดยจะเห็นเป็นเส้นแดงๆ บนผิวหนัง
การรักษา
: ใช้ออริโอมัยซิน 1 ช้อนชาต่ออาหาร 1 ขีด และให้ผักกินเพื่อลดโปรตีนและ ไขมัน ถ้าอาการหนัก ให้ แช่น้ำเกลือ 10% วันละ 1 ชม. ติดต่อกัน 4-5 วัน
  พลิสโตฟอโรซิส (Plistophorosis) จะทำให้ปลามีลำตัวซีดและเหงือกซีดขาว การทรงตัวผิดปกติ ว่ายน้ำตะแคงข้าง ผอมแห้ง แยกตัว และตายในที่สุด
การรักษา
: ยังไม่มียารักษาโรคนี้ได้ เนื่องจากเป็นเชื้อโรคชนิดที่อยู่ในสปอร์
 อิพิสทัยลิส (Epistylis Disease) เชื้อโรคนี้จะเกาะอยู่รวมกลุ่มกัน จะสังเกตเห็นเป็นจุดขาวมองดูคล้ายปุยสำลี เกาะอยู่ตามคอดหาง ครีบ ผิวหนัง นอกจากนั้นบริเวณที่เชื้อเกาะอยู่จะเห็นเป็นรอยแดง เส้นเลือดขึ้นเห็นชัด ต่อมาเกล็ดจะหลุด เนื้อใต้เกล็ดจะแหว่งหายไป โรคนี้จะติดต่อได้เร็วพอสมควร หากบ่อสกปรก
การรักษา :
นำปลามาชั่งน้ำหนัก ถ้าหนักมากกว่า 5 ขีด ให้ฉีดคานาไมซินที่ผสมแล้วจำนวน 0.2 ซีซี ฉีดเข้าที่กล้ามเนื้อหลัง ถ้าน้ำหนักน้อยกว่า 4 ขีด ให้ใช้ยา 0.1 ซีซี ฉีดทุก 3 วัน วันละครั้งจนหาย
  ตกเลือดจากแบคทีเรีย (Bacterial Hemorrhagic Septicemia) ทำให้เกิดการตกเลือดทั้งภายใน และภายนอก บางครั้งจะพบปลาที่เป็นโรคนี้ มีอาการท้องบวม มีหนองในช่องท้อง มีแผลตามลำตัว
การรักษา
: ใช้ยาปฏิชีวนะ เช่น เตตร้าซัยคลิน 10 ppm. แช่ติดต่อกันประมาณ 5-7 วัน
 เกล็ดตั้ง (Dropsy) เกิดจากการติดเชื้อแบคทีเรียซึ่งมีผลทำให้ไตอักเสบ ทำให้เส้นเลือดใต้เกล็ดบวมและเกล็ดจะตั้งขึ้นมา ปลาจะไม่กินอาหาร ลอยขึ้นมาบนผิวน้ำ และตายถ้าไม่ได้รับการรักษาอย่างทันท่วงที
การรักษา :
ยังไม่มียารักษา แต่ถ้ามีอาการเริ่มแรก ให้แช่ในน้ำยาฟูราเนสความเข้มข้น 1.0 ppm. 10 นาที ทุกวันจนกว่าอาการจะดีขึ้น
 คอลัมนาริส (Columnaris Disease) อาการที่พบได้ก็คือตัวขาวเป็นแถบๆ ตามลำตัวของปลา อาจจะมีรอยช้ำแดง ครีบเปื่อยยุ่ย เหงือกเน่า ปากเปื่อย ซึ่งอาการเหล่านี้จะเกิดบริเวณภายนอกของปลาเท่านั้น มักจะเกิดกับปลาที่บอบช้ำมากๆ
การรักษา : ผสมออริโอมัยซินลงในอาหารอัตราส่วน 1 ช้อนชาต่ออาหาร 1 ขีด ติดต่อกัน 3-4 วัน แล้วควรแช่ฟูราเนสความเข้มข้น 1.0 ppm. 10 นาที ติดต่อกัน 3-4 วัน (ควรใส่ยาฟูราเนสในช่วงที่แดดหมดแล้ว เพราะว่ายาจะหมดฤทธิ์เมื่อถูกแสงแดด) หรือใช้ด่างทับทิมความเข้มข้น 3-5 ppm. แช่ติดต่อกัน 3-5 วัน
 ลิมโฟซิสติส (Lymphocystis) เป็นโรคที่เกิดจากเชื้อไวรัสชนิดหนึ่ง ที่ทำให้เกิดการนูนขึ้นมาของเนื้อเยื่อบนผิวหนังส่วนต่างๆ ของปลา ขนาดและจำนวนของตุ่ม เหล่านั้น แตกต่างกันออกไป ตุ่มเหล่านี้จะมีลักษณะเป็นเม็ดเล็กๆ รวมกันเป็นกลุ่ม เมื่อสัมผัสดูจะมีความอ่อนนุ่ม
การรักษา : เกี่ยวเนื่องจากสภาพแวดล้อม เมื่อปลาเป็นโรคนี้ จะมีอัตราการตายต่ำมาก และถ้าสภาพแวดล้อมดีขึ้น โรคนี้ก็จะหายไปเอง
 ลำไส้ตัน (Abdominal Dropsy) มีเนื้องอกบริเวณรังไข่และโตอย่างรวดเร็ว จนทำให้ท้องกางออกมาข้างเดียวหรือทั้งสองข้าง ถ้าโตมากปลาจะตาย และปลาจะท้องกางนอกฤดูมีไข่
การรักษา
: ยังไม่มียารักษาที่ได้ผล แต่อาจลองให้ยาปฏิชีวนะผสมอาหาร
  ไซโคลกิต้า (Cyclokita) เกิดจากการที่เปลี่ยนน้ำในบ่อบ่อยครั้งมากเกินไป หรือน้ำจากการย้ายปลามาลงในบ่อ และมี เชื้อนี้ปะปนอยู่ในน้ำ โดยเฉพาะน้ำ ที่ถูกขังอยู่เป็นเวลานาน ผิวหนังของปลาจะขุ่นและปลาจะตายโดยไม่มีสาเหตุ มักเกิดขึ้นกับปลาที่มีอายุ 1-2 ปี
การรักษา :
ใช้น้ำเกลือ 0.5% (เกลือครึ่งกิโลกรัมต่อน้ำ 100 ลิตร) และใส่ด่างทับทิม 0.3 ppm. แช่ทิ้งไว้อย่างน้อย 1 ชั่วโมง
  เสียการทรงตัว (Air Bladder Disease) เกิดจากการกินอาหารมากเกินไป จนย่อยอาหารไม่ทัน ทำให้อาหารเหล่านั้นไปกดอวัยวะที่ปลาใช้ในการทรงตัว ทำให้ปลาทรงตัวไม่ได้ ซึ่งขึ้นอยู่กับอุปนิสัยในการกินอาหารของปลาเอง ปลาจะมีลักษณะอุ้ยอ้าย ต้องบิดไปทั้งตัวแทนที่จะว่ายสะบัดแค่หาง มักจมอยู่ก้นบ่อ ครีบกาง ถ้าเป็นมากจะหงายท้อง เมื่อเป็นแล้วจะหายยากมาก
การรักษา
: ยังไม่มียารักษา ควรจำกัดการให้อาหาร โดยให้ในปริมาณที่พอเหมาะ และให้ปลาได้ว่ายทวนน้ำบ้าง
  ลำไส้อักเสบ (Intestinal Inflammation) เกิดจากอาหารเก่า หรือมีเชื้อรา อาหารที่เก็บไว้นานเกินไป ปลาจะถ่ายเป็นน้ำขุ่นๆ หรือมีมูกเลือดปน บางครั้งก็เป็นเม็ดแข็งๆ สีดำ ปลาไม่ค่อยกินอาหาร
การรักษา : ทำได้ยาก วิธีแก้ก็คือ ให้อาหารที่แน่ใจว่าเป็นอาหารใหม
  ครีบพอง (Gas Bubble Disease) เกิดจากการที่มีออกซิเจนในน้ำมากเกินไป ซึ่งอัตราส่วนที่พอดีคือ 8 ppm. ซึ่งอาจเกิดจากการที่ให้ออกซิเจนในบ่อมากเกินไป หรือเกิดจากการที่มีสไปโรไจรา ซึ่งเมื่อโดนแสงแดดแล้ว จะคายออกซิเจนจนทำให้มีออกซิเจนในน้ำมากเกินไป ครีบหลังจะบวมเหมือนมีอากาศอยู่ใต้ผิว
การรักษา :
ต้องกำจัดสไปโรไจราด้วยการถ่ายน้ำออกและเติมน้ำใหม่ หรืออาจฆ่าด้วยเมทิลีนบลู 0.5 ppm. แต่วิธีที่ดีที่สุดก็ คืออย่าให้แดดส่องลงบ่อโดยตรงมากเกินไปนัก
 รอยขีดข่วนและบาดแผล (Cuts and Abrasion) เกิดจากการเคลื่อนย้ายปลา ช้อนปลา หรือปลาว่ายชนสิ่งมีคม ทำให้ปลามีรอยแผล รอยขีดข่วน
การรักษา : ใช้ยาปฏิชีวนะทาแผลโดยตรงจนกว่าจะหาย และไม่ควรมีสิ่งมีคมอยู่ในบ่อ
  ไมโซสปอริเดีย (Myxosporidea) เนื่องจากมีเชื้อนี้ปะปนอยู่ในน้ำ ปลาจะมีอาการหัวโต แก้มพอง เหงือกอักเสบ และตายติดต่อกัน มักจะเกิดกับปลาที่มีอายุ 1-2 เดือน
การรักษา :
ยังไม่มียาที่รักษาได้ผล หากเป็นแล้วให้เลือกปลา ที่ยังไม่เป็นออกจากบ่อ แล้วนำมาแช่มาลาไคท์กรีน 0.5 ppm.
  หวัด(Cold) เกิดจากการเปลี่ยนอุณหภูมิโดยฉับพลัน มีผลกับปลาที่ไม่แข็งแรง จะทำให้ผิวของปลาขุ่น และมีเส้นเลือดขึ้น
การรักษา :
ใช้ยาปฏิชีวนะในอัตรา 1 ช้อนชาต่อน้ำ 1 ตัน แช่ติดต่อกัน 3-4 วัน
  แพ้ความเค็มของบ่อปูน มักเกิดขึ้นเวลาที่ย้ายปลาลงบ่อปูนใหม่ หรือปูนจากการก่อสร้างที่มาตกลงในบ่อ จะทำให้เมือกของปลาโดนด่างในปูน กัดจนหมดความต้านทานเชื้อโรค จนเกิดการอักเสบ ผิวปลาจะเป็นผื่นแดง ปลาจะซึม อาจถึงตายได้
การรักษา :
ย้ายปลาออกจากบ่อนั้น และใช้มาลาไคท์กรีน 0.3 ppm. แช่ทิ้งไว้ และรีบแก้สภาพบ่อทันที
 สันหลังหัก (Spinal Paralysis) เกิดจากไฟรั่ว ปลาจะดิ้นอย่างแรง หรือกระโดด หรือวิ่งชนบ่ออย่างแรง จนทำให้หลังหัก จะสังเกตว่าลำตัวจะคด ลักษณะการว่ายจะผิดปกติ
การรักษา : ไม่มียารักษา แต่ถ้ามีอาการไม่มากนัก ให้ปลาได้ว่ายมากๆ อาจจะมีโอกาสหายได้เอง
  สีตก (Taishoku) สันนิษฐานว่าเกิดจากการขาดสารอาหาร หรือคุณภาพของน้ำไม่ดีพอ จะทำให้สีของปลาจางลง หรือหายไปเลย และบางครั้งอาจเกิดสีอื่นขึ้นมาก็ได้
การรักษา :
ยังไม่ทราบวิธีรักษา เนื่องจากไม่ทราบสาเหตุที่แน่นอน
  จุดบนผิวสีแดง (Epidermal Proliserous Disease) เกิดจากการเติบโตที่ผิดปกติของผิวหนังส่วนบน ทำให้เกิดจุดสีคล้ำ ขึ้นบนสีแดงของ Kohaku และ Taisho Sanshoku แต่ไม่ทำให้ปลาตาย
การรักษา
: ไม่มียารักษา นอกจากจะใช้การผ่าตัด
 สันหลังลีบ (Muscular Dystrophy) เกิดจากอาหารที่เก่าเกินไป หรือเลี้ยงปลาด้วยดักแด้หรือไส้เดือนแห้ง จะทำให้กล้ามเนื้อข้างครีบแนวตั้ง ส่วนหลังมีอาการลีบลง จนดูเป็นร่องข้างๆ ครีบ ปลาจะซึม ไม่แข็งแรงหัวโต ตัวลีบ
การรักษา :
ไม่มียาที่รักษาได้ผล ป้องกันได้โดยให้อาหารที่ใหม่เสมอ และหลีกเลี่ยงการเลี้ยงปลาด้วยดักแด้ หรือไส้เดือนแห้งที่ไม่แน่ใจว่าเก่าเกินไปหรือไม่
  พยาธิลวดหนาม (Phildmetroides Disease) สันนิษฐานว่าพยาธินี้อาศัยอยู่ในไรน้ำ เมื่อปลากินเข้าไป พยาธิก็จะเข้าไปเติบโตในตัวปลา และออกมาอาศัยอยู่ใต้เกล็ด ทำให้เกิดอาการแดงช้ำ ดูใกล้ก็จะเห็นพยาธิขดอยู่ ซึ่งจะเกิดเฉพาะในเมืองหนาวเท่านั้น
การรักษา
: ยังไม่มียารักษา แต่ถ้านำเข้ามาเลี้ยงในเมืองร้อน ก็อาจจะหายไปเอง
  ปลาว่ายเป็นวงกลมไม่หยุด (Whirling Disease) เกิดจากการที่มีจุลินทรีย์ชนิดหนึ่ง มาเกาะบนส่วนหัวและ เจาะเข้าไปถึงสมองส่วนที่บังคับการทรงตัว ทำให้ปลาว่ายหมุนเป็นวงกลม มักเกิดขึ้นกับปลาอายุ 1-2 ปี ซึ่งจุลินทรีย์นี้อาจปะปนอยู่ในน้ำ หรือมาจากไส้เดือนที่เป็นอาหาร
การรักษา : ไม่มียารักษา แต่ให้นำปลาที่เป็นโรคนี้ออกจากบ่อโดยเร็ว แล้วย้ายปลาที่เหลือออกมา ทำการฆ่าเชื้อในบ่อด้วยเกลือและฟอร์มาลิน

วิธีดู
ชนิด
บ่อเลี้ยง
การดูแล
การเพาะ
โรค
ถาม-ตอบ
เชื่อมโยง
เรื่องน่ารู้
โหวตโกโรโมะ
ห้องสนทนา


koithai@hotmail.com