เล่ากันว่า ปลาแฟนซีคาร์พก็คือปลาไนสี หรือปลาไนทรงเครื่องดีๆนี่เอง เดิมทีชาวญี่ปุ่นเลี้ยงและผสมพันธุ์ปลาไนเพื่อใช้เป็นอาหาร แต่ก็ได้เกิดการผ่าเหล่าขึ้นโดยเกิดมีสีแดงและสีฟ้า ทำให้ผู้เพาะเลี้ยงนทปลาไนหันมาทำการผสมพันธุ์ปลาที่มีสี จนเกิดปลาสีขาวแดงที่เรียกว่า โคฮากุ (Kohaku) และได้กำเนิดสายพันธุ์ของปลาที่มีสีขาวและดำที่เรียกว่า ชิโร่-อุจึริ (Shiro Utsuri)
และต่อมาก็เกิดสายพันธุ์ปลาหลายหลากสี ที่มีทั้งเกล็ดเป็นสีทอง
(Kinrin) และเกล็ดเป็นสีเงิน (Ginrin) ปลาที่มีสีเหลืองทอง
(Ogon) สายพันธุ์แบบอื่นๆก็เกิดตามขึ้นมามีทั้งปลาที่มีเกล็ดและไม่มีเกล็ด ส่วนปลาที่ไม่มีเกล็ดก็ได้มาจากประเทศเยอรมันที่ส่งมาเป็นของขวัญแก่ประเทศญี่ปุ่น เมื่อได้ผสมพันธุ์ต่อไปเรื่อยๆก็ได้ยึดหลักเกณฑ์การเรียกชนิดปลาออกไปอีก คือปลาที่ไม่มีเกล็ดและปลาที่มีเกล็ดเพียงบางส่วนก็จะเรียกชื่อว่า ดอยท์ซุ-กอย (Doitsu-goi) และปลาไนที่มีเกล็ดเต็มทั้งตัวเรียกว่า วากอย
(Wagoi)
หรือ
Japanese Koi ที่ในปัจจุบันเราจะได้ยินคำว่า นิชิกิกอย (Nishikigoi)
มากกว่าแท้จริงแล้วคำว่า นิชิกิ ก็คือผ้าที่มีหลายสีทอมาจากเส้นไหมที่มาจากประเทศอินเดีย และสิ่งทอชนิดนี้มีราคาแพงมากผู้ที่จะมีผ้าดังกล่าวมาสวมใส่จึงมักจะเป็นคนร่ำรวย เช่น ขุนนางชั้นสูง เลยนำมาเป็นชื่อปลาแฟนซีคาร์พที่มีสีมากมายเหมือนผ้าชนิดดังกล่าว ประเทศไทยเราเริ่มนำปลาแฟนซีคาร์พเข้ามาเลี้ยงในราวปี
พ.ศ.2493 ซึ่งขณะนั้นปลาแฟนซีคาร์พมีราคาค่อนข้างสูงมาก และก็ได้มีการศึกษาเพื่อขยายพันธุ์จนสำเร็จและมีคุณภาพดี แต่ก็ยังมีการนำเข้าปลาแฟนซีคาร์พจากประเทศญี่ปุ่นอยู่จนถึงวันนี้
เนื่องจากปลาแฟนซีคาร์พบางชนิดประเทศไทยยังเพาะออกมาแล้วไม่ได้คุณภาพเท่าของญึ่ปุ่น ทั้งในด้านรูปทรง
ลวดลาย ความเข้มของสี เพราะสิ่งแวดล้อมที่แตกต่างกันก็มีผลต่อคุณภาพของปลาแฟนซีคาร์พด้วย เช่น น้ำ อุณหภูมิ
อาหาร เป็นต้น
ผู้ที่สนใจจะเริ่มเลี้ยงปลาแฟนซีคาร์พ ควรจะคำนึงถึงปัจจัยหลายๆอย่าง เพราะไม่ว่าคุณจะเลี้ยงสัตว์ชนิดไหน คุณควรจะศึกษาถึงลักษณะ อุปนิสัยการดำรงชีวิตของสัตว์ชนิดนั้น เช่น
การหาหนังสือมาอ่านก่อนเลี้ยงจริง โดยเฉพาะปลาแฟนซีคาร์พเป็นปลาที่ชอบที่กว้างๆ
มีน้ำไหลเวียน มีนิสัยที่ชอบว่ายอยู่เสมอ เป็นปลาที่เลี้ยงง่ายถ้าได้ศึกษาวิธีเลี้ยงอย่างเข้าใจ ผู้ที่สนใจที่จะเลี้ยงปลาแฟนซีคาร์พควรจะคำนึงถึงปัจจัยต่างๆ ดังนี้ เช่น
ควรมีบริเวณที่กว้างพอที่จะทำบ่อเลี้ยง แต่ไม่ใช่ว่าปลาแฟนซีคาร์พตัวเล็กๆจะเลี้ยงไม่ได้ แต่ควรมองไปถึงอนาคตว่า ปลาแฟนซีคาร์พสามารถโตได้ถึงขนาดไหน เพื่อไม่ให้ปลาอยู่แออัดจนเกินไปเมื่อเวลาที่ปลาโตขึ้นเรื่อยๆ ค่าใช้จ่ายในการเลี้ยงก็เป็นปัจจัยที่สำคัญ เพราะถ้าบ่อเลี้ยงมีขนาดใหญ่ก็ต้องใช้น้ำและไฟมากตามไปด้วย ค่าอาหาร
และที่สำคัญก็คือราคาปลาที่คุณจะเลี้ยง เพราะปลาแฟนซีคาร์พนั้น มีราคาตั้งแต่ตัวละ 5 บาทไปจนถึงหลักแสน เพราะปลาแฟนซีคาร์พมีลวดลายที่จะไม่ซ้ำแบบกันเลยในแต่ละตัวตรงนี้แหละที่เป็นเสน่ห์ของปลาแฟนซีคาร์พที่มีอย่างไม่รู้จบ
สรุปแล้วก็คือ ปลาแฟนซีคาร์พนั้นจะสวยหรือไม่สวยอย่างไรก็ตาม สำคัญที่ผู้ที่เลี้ยงจะมีใจรักในปลาที่เลี้ยงขนาดไหน ถึงแม้ว่าปลาที่เลี้ยงนั้นจะมีราคาเรือนแสนก็อาจจะไม่มีคุณค่าเลยถ้าผู้เลี้ยงไม่มีใจรัก ตรงกันข้ามกับปลาราคาเพียงไม่กี่บาทแต่ผู้เลี้ยงที่เอาใจใส่เป็นอย่างดี ปลาตัวนั้นก็จะมีคุณค่าทางจิตใจต่อผู้เลี้ยงผู้นั้นอย่างแน่นอน สัตว์เลี้ยงทุกชนิดต้องการความเอาใจใส่เมื่อนำเขามาเลี้ยงแล้วไม่ควรเลี้ยงเพราะตามแฟชั่น ควรเลี้ยงด้วยใจรักบางครั้งอาจได้รายได้จากสัตว์เลี้ยงที่เรารักโดยไม่รู้ตัวก็ได้ เช่น การได้ลูกจากปลาแฟนซีคาร์พ หรือสัตว์อื่นๆที่เราเลี้ยงได้อย่างไม่น่าเชื่อ
|